ปัญหามีบุตรยาก หรือมีลูกยากเป็นปัญหาหนักใจของคู่รักหลายคู่ โดยเริ่มพบมากขึ้นในปัจจุบัน เนื่องจากหลาย ๆ ปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นด้านความพร้อม การแต่งงานที่อายุมากขึ้น สถาณการณ์เศรษฐกิจ สังคม ค่านิยมของการมีบุตร ล้วนส่งผลให้เกิดภาวะมีบุตรยากได้
ภาวะมีบุตรยากเกิดจากอะไร
ภาวะมีบุตรยาก คือ ภาวะที่คู่สมรสมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้คุมกำเนิด แต่ไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ในระยะเวลา 1 ปี หรือ 6 เดือน ในกรณีคู่สมรสฝ่ายหญิงมีอายุมากกว่า 35 ปี ขึ้นไป แม้จะมีเพศสัมพันธ์สม่ำเสมอแล้วก็ตาม
สำหรับคู่รักท่านใดที่อ่านมาถึงตรงนี้ แล้วรู้ว่าตนเองอาจเข้าข่ายภาวะมีบุตรยากได้ แนะนำให้ลองปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อช่วยหาทางออกและเพิ่มโอกาสการมีบุตรให้กับคุณได้
ส่วนสาเหตุของภาวะมีบุตรยากสามารถเกิดได้จากที่ฝ่ายชายและฝ่ายหญิง หรือบางกรณีก็หาสาเหตุไม่พบ โดยสาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้เกิดภาวะมีบุตรยากมี ดังนี้
สาเหตุของการมีบุตรยากที่เกิดจากฝ่ายชาย
- มีความผิดปกติของอสุจิ (ไม่ว่าจะเป็นด้านรูปร่าง จำนวน หรือการเคลื่อนไหว)
- มีความผิดปกติทางโครงสร้าง เช่น ลูกอัณฑะฝ่อ ลูกอัณฑะไม่ลงมาในถุงอัณฑะ
- เคยมีประวัติผ่าตัดบริเวณถุงอัณฑะ อัณฑะอักเสบ หลอดเลือดอัณฑะโป่งพอง
- โรคประจำตัวหรือยาบางชนิดที่ส่งผลต่อการผลิตอสุจิ
- ปัญหาอื่น ๆ เช่น ภาวะฮอร์โมนผิดปกติ สุรา บุหรี่ เครียด พักผ่อนน้อย ทำให้ส่งผลต่อการมีเพศสัมพันธ์และจำนวนอสุจิที่ลดลง
สาเหตุของการมีบุตรยากที่เกิดจากฝ่ายหญิง
- อายุมากขึ้นทำให้คุณภาพของไข่ลดลง
- เคยมีประวัติเกี่ยวกับเยื่อบุโพรงมดลูก อุ้งเชิงกราน หรืออวัยวะสืบพันธุ์ผิดปกติ
- ความผิดปกติของฮอร์โมน หรือการใช้ยาที่มีผลต่อฮอร์โมน ทำให้ประจำเดือนและการตกไข่ผิดปกติ
- มีความผิดปกติของต่อมใต้สมอง หรือต่อมไร้ท่ออื่นๆ
- เคยมีประวัติผ่าตัดมดลูก หรือรังไข่
- ปัญหาด้านความเครียด ความวิตกกังวล ที่อาจส่งผลให้โอกาสในการตั้งครรภ์ลดลง
ภาวะมีบุตรยากที่ไม่ทราบสาเหตุ พบประมาณร้อยละ 10 ของคู่สมรสที่มีบุตรยาก ที่ได้รับการตรวจหาสาเหตุทั้งฝ่ายชาย และฝ่ายหญิงแล้วไม่พบความผิดปกติ
แนวทางการรักษาภาวะผู้มีบุตรยาก ทำได้อย่างไรบ้าง
สำหรับคู่รักที่วางแผนอยากมีลูกเมื่อเริ่มมีอายุมาก หรือผู้ที่เข้าเกณฑ์ภาวะมีบุตรยาก แนะนำให้ตรวจประเมินเพื่อหาสาเหตุและวิธีแก้ไข ในปัจจุบันสามารถตรวจได้ทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง เพื่อให้ทราบถึงสาเหตุในการมีบุตรของเราได้
เมื่อตรวจประเมินภาวะมีบุตรยาก แล้วพบว่าเราหรือคู่รักของเราเข้าเกณฑ์ภาวะมีบุตรยาก ในปัจจุบันมีการรักษาเพื่อเพิ่มโอกาสในการมีบุตรได้มากขึ้น ดังนี้
1. IUI หรือ วิธีการฉีดน้ำเชื้อเข้าโพรงมดลูก
การฉีดน้ำเชื้อเข้าโพรงมดลูก เป็นหนึ่งในวิธีที่นิยมทำกันอย่างแพร่หลาย โดยมีการดูรอบธรรมชาติหรือรอบตกไข่ของฝ่ายหญิงว่ามีตกไข่หรือไข่สุกวันไหน หลังจากนั้นจะเลือกตัวอสุจิที่แข็งแรงของฝ่ายชาย โดยจะฉีดน้ำเชื้อและตัวอสุจิเข้าไปในโพรงมดลูกของฝ่ายหญิง เพื่อให้ตัวอสุจิสามารถปฏิสนธิกับไข่ของฝ่ายหญิง เป็นวิธีที่ช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ให้มากขึ้น
2. IVF/ICSI หรือ เด็กหลอดแก้ว
IVF และ ICSI เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่คู่รักหลายคู่เลือกเพื่อรักษาภาวะการมีบุตรยาก โดยทั้ง 2 วิธีนี้ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญของแพทย์เฉพาะทาง โดยการนำไข่ของฝ่ายหญิงและตัวอสุจิที่แข็งแรงของฝ่ายชายออกมาปฏิสนธิกันภายนอก ดังนี้
IVF เป็นการคัดเลือกไข่ที่สมบูรณ์ของฝ่ายหญิงออกมาผสมกับสเปิร์มที่แข็งแรงของฝ่ายชายเพื่อให้เกิดตัวอ่อนในห้องปฏิบัติการ จากนั้นจึงเพาะเลี้ยงตัวอ่อน อีก 3-5 วัน จนกระทั่งตัวอ่อนแบ่งเซลล์ แล้วคัดเลือกตัวอ่อนที่สมบูรณ์ที่สุดใส่กลับเข้าสู่โพรงมดลูก เพื่อให้ตัวอ่อนฝังตัวและเติบโตเป็นทารกในครรภ์ต่อไป
ICSI เป็นการรักษาภาวะผู้มีบุตรยากด้วยเทคนิคพิเศษ ด้วยการคัดเลือกสเปิร์มที่แข็งแรงที่สุดจำนวน 1 ตัว ฉีดเข้าไปในเซลล์ไข่ 1 ใบ หลังจากนั้นจะนำไข่ที่ผสมแล้วไปเลี้ยงไว้ในห้องปฏิบัติการ 3-5 วัน แล้วคัดเลือกตัวอ่อนที่สมบูรณ์ที่สุดย้ายกลับสู่โพรงมดลูกเพื่อเจริญเติบโตในครรภ์ของฝ่ายหญิงต่อไป